Sunday, September 11, 2011

รฟม.ปิ๊งโมเดลธุรกิจใหม่ เก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน


         รฟม.ปิ๊งโมเดลธุรกิจใหม่ เก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน นำร่อง "เซ็นทรัล พระราม 9"เป็นรายแรก ทำสัญญา 18 ปี ค่าเช่าปีละ 3 ล้านบาท ขยายผลต่อสายสีม่วง-สีน้ำเงินเปิดทางเช่ายาว 30 ปีเอกชนสนใจเพียบ ทั้งเซ็นทรัล-บิ๊กซีโลตัส-โรงแรมริชมอนด์-อาคารสำนักงานและคอนโดฯ
          นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า เจ้าของอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งสายปัจจุบันและส่วนต่อขยายสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพงบางแค) ต่างสนใจจะขอเช่าพื้นที่สถานีเพื่อเชื่อมอาคารสร้างทางเข้า-ออก
          ซึ่ง รฟม.ได้ใช้โมเดลจากประเทศเกาหลีเป็นต้นแบบ ส่วนหนึ่งเพื่อหารายได้ในเชิงพาณิชย์ จากปัจจุบันมีรายได้ส่วนนี้อยู่ 70 กว่าล้านบาท/ปี ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2554 ทาง รฟม.ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนาไนน์ สแควร์ จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขาพระราม 9 เพื่อเชื่อมต่ออุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพระราม 9 ทะลุถึงชั้นใต้ดินของห้างเซ็นทรัล ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างจะเปิดให้บริการภายในปลายปีนี้
          "เป็นครั้งแรกที่ รฟม.ให้เอกชนเช่าพื้นที่เชื่อมอาคาร เราจะใช้โมเดลนี้กับเอกชนรายอื่น ๆ ค่าเช่าจะมีหลายสูตรไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพราะต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ แต่จะอยู่บนพื้นฐานที่ไม่แพงมาก โดยคิดตามขนาดพื้นที่ที่จะใช้คำนวณเป็นตารางเมตร และขึ้นอยู่กับทำเล ถ้าอยู่ในเมืองราคาอาจค่อนข้างสูง แต่ไม่เท่ากับรถไฟฟ้าบีทีเอส หากเป็นแนวสายสีม่วงจะเป็นอีกราคาหนึ่ง" นายรณชิตกล่าวและว่า
          สำหรับระยะเวลาการเช่าจะให้เท่ากับอายุสัมปทานการเดินรถ 30 ปี กรณีศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งอยู่ในแนวรถไฟฟ้าเส้นทางเดิม และอายุสัมปทานของ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีเอ็มซีแอล) เหลือเพียง 18 ปี รฟม.ก็จะให้เช่าตามอายุสัมปทานที่เหลือ โดยเซ็นทรัลจะจ่ายค่าเช่าให้ รฟม.เป็นรายปีคิดเป็นเม็ดเงินแล้วอาจมีมูลค่าไม่มากหรือประมาณ 54 ล้านบาทเท่านั้นเนื่องจากเป็นแค่การเชื่อมทะลุผนังสถานีตกปีละไม่ถึง 3 ล้านบาท
          "เราไม่ได้หวังรายได้จากตรงนี้ แต่เป้าหมายคือการเกื้อหนุนทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อป้อนผู้โดยสารซึ่งกันและกัน"
          นายรณชิต เปิดเผยอีกว่า นอกจากห้างเซ็นทรัล พระราม 9 แล้ว ยังมีสถานีพหลโยธินที่ทางเซ็นทรัลได้ขอเช่าพื้นที่สร้างทางเชื่อมอุโมงค์ใต้ดินกับห้างสรรพสินค้าด้วย ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนขณะที่สายสีม่วงที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นมีกำหนดจะเปิดบริการปลายปี 2557 ล่าสุดมีหลายสถานีที่เอกชนติดต่อเข้ามาเพื่อขอสร้างทางเชื่อมต่อ เช่น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี มีห้างเทสโก้โลตัส, สถานีศรีพรสวรรค์ มีห้างบิ๊กซีคาร์ฟูร์ และโรงแรมริชมอนด์, สถานีแยกนนทบุรี 1 มีห้างเซ็นทรัล สาขารัตนาธิเบศร์ ฯลฯ
          ส่วนในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีเอกชนสอบถามเข้ามามาก โดยเฉพาะช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษมซึ่งเป็นทั้งเจ้าของอาคารและคอนโดฯเช่นกัน
          นอกจากการเชื่อมสถานีกับอาคารต่าง ๆ แล้ว รฟม.ยังคิดค่าเช่ากับเอกชนที่ต้องการใช้ที่ดินเปิดทางเข้า-ออกด้วยล่าสุด บมจ.อสมท จะขอเช่าพื้นที่บริเวณถนนเทิดพระเกียรติใกล้ศูนย์ซ่อม รฟม.เพื่อเปิดทางที่ดินของบริษัทจำนวน 50 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นที่ดินตาบอดเพื่อสร้างทางเข้า-ออก และขอเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรองรับแผนลงทุนโครงการคอมเพล็กซ์มูลค่า 12,000 ล้านบาทของ อสมทในอนาคต
          นางประไพ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัดผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์วัสดุตกแต่ง "แกรนด์โฮมมาร์ท" หนึ่งในผู้ประกอบการที่ขอเชื่อมทางกับ รฟม.กล่าวว่า ได้ติดต่อเชื่อมทางกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีม่วงที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากจะมีการก่อสร้างสถานีบริเวณด้านหน้าโชว์รูมแกรนด์โฮมมาร์ท สาขารัตนาธิเบศร์ โดยได้รับการอนุมัติจาก รฟม.แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพูดคุย
          รายละเอียดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมทางมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วนคือ 1.ค่าธรรมเนียมเชื่อมทางแรกเข้า และ 2.ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเป็นรายปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
          อย่างไรก็ตาม กรณีค่าธรรมเนียมแรกเข้าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมน่าจะไม่เกิน 3 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ควรจะเกินปีละ 500,000-600,000 บาท เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่ได้วิ่งผ่านในเมือง แต่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดนนทบุรี


ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 14 ก.ย. 2554--

No comments:

Post a Comment