Monday, January 11, 2010

BST sell Condo for government and state enterprise employees บสท. เปิดบูธขายคอนโดเลควิว สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--บสท.
บสท. ปลุกตลาด NPA ปี 53 เปิดบูธศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ คัดคอนโดวิวสวยที่สุดริมทะเลสาปเมืองทองธานีกว่า 400 ห้อง ราคาโดนใจเพียงตารางเมตรละหมื่นกว่าบาท พร้อมยื่นเงื่อนไขผ่อนสบายๆ เอาใจข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เผยแผนขายทรัพย์ปี 53 หลังยอดขายทรัพย์ปี 52 ทะลุเป้ากว่าหมื่นล้าน

นายสาธิต รังคศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา บสท. มีนโยบายประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ด้วยการนำเสนอทรัพย์สินรอการขายที่มีศักยภาพของ บสท. เสนอขายให้กับหน่วยงานของรัฐในลักษณะของรัฐต่อรัฐภายใต้ราคาและเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมและเพื่อช่วยเหลือสังคม อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (อบจ. จันทบุรี) และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เทศบาลนครนนทบุรี เป็นต้น ซึ่งในปีนี้เราก็ยังคงเดินหน้านโยบายประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ต่อยอดนโยบายในการนำทรัพย์สินที่มีศักยภาพของ บสท. ให้เข้าถึงข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบุคลากรสังกัดหน่วยงานของรัฐอีกด้วย โดยการมอบโปรโมชั่นพิเศษสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถเป็นเจ้าของห้องชุดพักอาศัยในคอนโดมิเนียมเลควิวที่เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะได้ง่ายยิ่งขึ้น

นางจุไรรัตน์ ปันยารชุน กรรมการผู้จัดการ บสท. กล่าวว่า งานมหกรรม “ลงทุนอย่างฉลาด สร้างโอกาสสู่ความมั่งคั่งกับทรัพย์สิน บสท. สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ” นี้ เป็นโครงการพิเศษที่ บสท. ตั้งใจมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดย บสท. ได้คัดเลือกทรัพย์สินประเภทห้องชุดคอนโดมิเนียม เลควิว ทำเลดีวิวสวยริมทะเลสาปเมืองทองธานี มาจำหน่ายในราคาเพียงตารางเมตรละ 10,000 กว่าบาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ถูกที่สุดในย่านนี้ ทำให้ขณะนี้มีผู้สนใจจำนวนมากและสามารถจำหน่ายไปได้แล้วกว่า 60 ห้อง สำหรับห้องชุดคอนโดมิเนียม เลควิวนี้ตั้งอยู่ใน 3 อาคาร ได้แก่ อาคารสุพีเรีย จำนวน 97 ห้อง วิคตอเรีย จำนวน 72 ห้อง และริเวียร่า จำนวน 229 ห้อง รวมทั้งสิ้นกว่า 400 ห้อง มูลค่ารวมประมาณ 530 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ให้เลือกหลายขนาดตามความต้องการตั้งแต่ 50-120 ตารางเมตร พิเศษสุดสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ บสท. มอบโปรโมชั่นผ่อนสบายๆ ด้วยการวางเงินมัดจำเพียง 10% ในวันทำสัญญา จากนั้นผ่อนชำระเงินดาวน์ 30% ได้นานถึง 10 เดือน สำหรับส่วนที่เหลืออีก 60% ชำระพร้อมโอนใน 1 ปีนับจากวันทำสัญญา โดยผู้ซื้อสามารถเข้าอยู่ได้ทันทีหลังทำสัญญา นอกเหนือจากโปรโมชั่นดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์สินของ บสท. ยังจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน ทั้งนี้ บสท. จะเปิดบูธให้บริการ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บริเวณชั้น 1 โซนทิศใต้ (หน้าธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา) เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม - 31 มีนาคม 2553 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30-17.00 น. ผู้สนใจที่ต้องการชมทรัพย์สินก่อนการตัดสินใจซื้อ บสท. ได้อำนวยความสะดวกลูกค้าโดยจัดให้มีรถบริการรับ-ส่งจากศูนย์ราชการฯไปยังห้องชุดคอนโดมิเนียมเลควิว สัปดาห์ละ 2 วัน

สำหรับผลการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายในปี 2552 ที่ผ่านมา บสท. สามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ได้กว่า 11,300 ล้านบาท ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยทรัพย์สินที่จำหน่ายได้ประมาณร้อยละ 40 เป็นทรัพย์สินที่จำหน่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐและทรัพย์รายใหญ่มูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 เป็นทรัพย์สินขนาดกลางมูลค่า 20-50 ล้านบาทและทรัพย์รายย่อย รวมทั้งการจำหน่ายผ่านสมาชิกนักขายของ บสท. ตัวอย่างทรัพย์สินเด่นที่จำหน่ายได้ในปี 2552 ที่ผ่านมา อาทิ ห้องชุดสำนักงาน อาคารไอทีเอฟ ถนนสีลม ที่ดินเปล่า เนื้อที่ 12 ไร่ ติดถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ ที่ดินเปล่าริมทะเล เนื้อที่ 17 ไร่ อ. หัวหิน จ. ประจวบฯ ที่ดินเปล่าบริเวณสามแยกสนามบินน้ำ ติด ถ.ติวานนท์ เนื้อที่กว่า 26 ไร่ โรงแรมเจมส์ชะอำ จ. เพชรบุรี เป็นต้น สำหรับระยะเวลาที่เหลืออีก 17 เดือนข้างหน้า ก่อนที่ บสท. จะหมดวาระและปิดตัวลงในปี 2554 ตามกฎหมาย บสท.ได้วางแผนกลยุทธ์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด โดยในปี 2553 นี้ บสท. ได้เปิดบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทรัพย์สินรอการขายของ บสท. (Information Booth) บริเวณอาคารผู้โดยสาร ชั้น 2 สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขยายช่องทางการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งวางแผนการขายแบบเฉพาะเจาะจง ด้วยการจัดงานมหกรรมใหญ่ 2 ครั้ง ในไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยจะคัดทรัพย์สินที่มีศักยภาพเสนอขายแก่นักลงทุนในราคาพิเศษ และการเดินสาย Roadshow อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 ครั้ง ส่วนแคมเปญพิเศษดาวน์น้อยผ่อนสบายกับที่ดินเปล่าทำเลดีทั่วประเทศ ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่ง บสท. จัดขึ้นในปี 2552 นั้น เนื่องจากได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก บสท. จึงขยายระยะเวลาโปรโมชั่นออกไปอีก 3 เดือนจนถึงวันที่ 31 มีนาคม ศกนี้ สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2553 บสท. จะดำเนินการจัดกองทรัพย์สินรอการขาย เพื่อทำการจำหน่ายก่อนการยุบเลิก

Sunday, January 10, 2010

LPN open 8 project 13 billion ตลาดคอนโดคึกรับแผนบีโอไอ แอลพีเอ็นผุด8โครงการโกยขาย1.3หมื่นล้าน

"แอลพีเอ็น" ประกาศลุยโครงการใหม่ 6-8 โครงการ หวังโกยยอดขายสิ้นปีทะลุ 13,000 ล้าน โชว์ยอดขายปี 52 พุ่งสวนกระแสเศรษฐกิจทรุดกวาดยอดขายกว่า 10,000 ล้าน ล่าสุดแย้มแผนรุกเน้นสร้างแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภค หวังสร้างความต่างในตลาด เลิกเน้นกลยุทธ์ขายถูก เล็งตลาดคอนโดฯ ยังรุ่ง มาตรการบีโอไอหนุน
นายโอภาส ศรีพยักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 6-8 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทเข้าทำตลาด เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัย โดยในส่วนของไตรมาสแรกมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่เข้ามาทำตลาดจำนวน 3 โครงการ คือ ลุมพินี คอนโดทาวน์ บางแค, ลุมพินี เพลส พระราม 9 เฟส 2 และลุมพินี เพลส พหลฯ-รัชดาฯ ซึ่งภายหลังจากที่บริษัทเปิดตัวโครงการใหม่เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีมียอดขายเป็นไปตามเป้าหมายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 20%

สำหรับภาพรวมรายได้ปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายกว่า 10,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2551 ที่ 20% ส่งผลให้มียอดรับรู้รายได้กว่า 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แม้เกิดปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่บริษัทยังสามารถผลักดันยอดขายเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทปรับแผนการตลาดด้วยการหันมาควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจากแผนการดำเนินการดังกล่าวประกอบกับบริษัทได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าทำตลาด โดยเฉพาะโครงการลุมพินีคอนโดทาวน์ รามอินทรา-นวมินทร์, ลุมพินี พาร์ค ปิ่นเกล้า และลุมพินี วิลล์ ลาดพร้าว-โชคชัย 4 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงกว่า 30%

"แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ นอกจากเน้นการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าทำตลาดแล้ว บริษัทจะเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์ของแอลพีเอ็นให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ซึ่งจากเดิมเน้นเรื่องทำเลและการสร้างคอนโดฯ ราคาถูกเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่เข้ามาพักอาศัยคอนโดฯ ของแอลพีเอ็นแล้วกว่า 1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่มีลูกค้าหลักหมื่นคนเท่านั้น" นายโอภาสกล่าว

ส่วนแนวโน้มของตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้ยังคงมีอัตราการเติบโตดี เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีที่พักอาศัยเป็นของตัวเองและต้องการซื้อคอนโดมิเนียมอีกมาก ประกอบกับปีนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจอาคารชุดพักอาศัยระดับล่างเติบโตมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จากการที่ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เข้าทำตลาด เชื่อว่าในปีนี้ผู้ประกอบการจะออกมาเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่มากขึ้น และส่งผลให้ตลาดเติบโตหากไม่มีปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ช่วงปี 52 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นถึง 9,426 หน่วย แบ่งเป็นอาคารชุดที่มีทำเลใกล้ศูนย์การค้าและระบบขนส่งขนาดใหญ่ 7,784 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 83% จากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ทั้งหมด บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 1,117 ยูนิต ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 525 ยูนิต.

9 มกราคม 2553 - 00:00 ไทยโพสต์

แอล.พี.เอ็น.บุกรัชโยธิน ซื้อที่เมโทรฯผุดคอนโด


นายฑิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พีเอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ตัดสินใจซื้อที่ดินโครงการเมโทร อเวนิว รัชโยธิน ของบริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพ เพอร์ตี้ แล้ว โดยจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมขายในราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาทกลางๆ ตามแนวทางที่บริษัทดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน “ราคาเริ่มต้นยังไม่กำหนด ตายตัว คาดว่าจะอยู่ที่ราคาระหว่าง 1.5-1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัททำอยู่แล้ว โดยจะต้องขอดูตัวสินค้าที่กำลังออกแบบอีกครั้ง ถึงจะสรุปเรื่องราคา แต่เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีอย่างแน่นอน” นายฑิฆัมพร กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท เมโทร สตาร์ และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงการตกลงซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ โดยบริษัท เมโทร สตาร์ แจ้งว่า คณะกรรมการได้อนุมัติให้จำหน่ายทรัพย์สินได้แก่ที่ดินเปล่า จำนวน 10 แปลง บริเวณโครงการเมโทร อเวนิว รัชโยธินให้กับบริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯ ในราคา 680 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯ แจ้งว่า ได้ซื้อที่ดินขนาด 5,921 ตร.ว. (ประมาณ 14.8 ไร่) จาก บริษัท เมโทร สตาร์ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการลุมพินี เพลส รัชโยธินเป็นอาคารชุดพักอาศัย สูง 22 ชั้น จำนวน 4 อาคาร จำนวนประมาณ 1,964 ยูนิต ซึ่งจะมีรายได้ของโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีผลตอบแทนเบื้องต้น 30%

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถือว่าราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับโครงการที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในย่านดังกล่าวรุนแรงขึ้น

Condo increased 100% opened คอนโดแข่งเดือดเปิดเพิ่ม100%


วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553
โพสต์ทูเดย์ — แอล.พี.เอ็น.คาดปีนี้คอนโดเปิดตัวกระฉูด 5-6 หมื่นหน่วย โตกว่าปีที่แล้วกว่า 100% ส่งผลแข่งขันเดือด
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า บริษัทประเมินว่าในปีนี้จะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นหน่วย ขยายตัวจากปีที่ผ่านที่มีคอนโดมิเนียมเปิดขายประมาณ 2.5 หมื่นหน่วย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีโครงการเปิดตัวน้อย แต่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดคอนโดมิเนียมบูม

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีโครงการอาคารชุดเปิดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมตลาดบ้านบีโอไอ ที่เป็นตัวผลักดันตลาดคอนโดมิเนียมระดับล่างให้มีการพัฒนามากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันและกระแสความนิยมอาคารชุดพักอาศัยที่เกาะตามแนวรถไฟฟ้า ที่เข้ามาเป็นเป็นตัวผลักดันคอนโดมิเนียมระดับกลาง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการออกไปในปีก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์และพร้อมจะกลับมาเปิดตัวในช่วงปีนี้ หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผันทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมระดับบนน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว

สำหรับในปี 2553 นี้ เชื่อว่าจากสภาพตลาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดคอนโดมิเนียมรุนแรงขึ้น และยังต้องระวังในเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจและการเมืองยังถือเป็นปัจจัยที่เสี่ยงอยู่ในปีนี้

นายโอภาส กล่าวอีกว่า การแข่งขันในตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง จะเน้นที่การชิงทำเล ส่วนคอนโดมิเนียมระดับล่างหรือคอนโดมิเนียมบีโอไอ จะเน้นที่ราคาเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงเป็นหลัก

ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมา มียอดขายกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% ส่วนยอดการรับรู้รายได้กว่า 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ส่วนในปีนี้ บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่อีก 6-8 โครงการ โดยตั้งเป้าหมาย ยอดขายไว้ 1.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 20% จากปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แผนงานในไตรมาสแรก บริษัทเตรียมเปิดตัว 3 โครงการใหม่ ได้แก่ ลุมพินี คอนโดทาวน์ บางแค ลุมพินี เพลส พระราม 9 เฟส 2 ลุมพินี เพลส พหล-รัชดาฯ ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งซื้อที่ดินมาจาก บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ รวมทั้ง 3 โครงการมูลค่ากว่า 6,100 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัด โดยเตรียมเปิดโครงการแรกที่พัทยา ในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จากนั้นจะพิจารณาเปิดโครงการใหม่ๆ ในทำเลที่มีศักยภาพต่อไป

Sunday, January 3, 2010

'ศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ' โละบ้านเอื้ออาทร


โครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ(กคช.) มีปัญหาสะสมมาตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งปัจจุบัน ล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นชอบให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขายเพื่อ สะสางโครงการ ให้หมดไปภายในปี 2553 โดย รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ "นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ " ในฐานะมือการตลาด เปิดใจ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงแผนการดำเนินงานดังต่อไปนี้

+++ตั้งเป้าขายปีงบประมาณ 2553
นายศิริโรจน์ กล่าวว่า ได้ตั้งใจขายโครงการบ้านเอื้ออาทร ให้ได้ตามเป้าจำนวน 15,000 หน่วย ภายใน 3 เดือน หรือ ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 ( ตุลาคม -ธันวาคม 2552) มาถึงขณะนี้ สามารถขายได้จำนวน 13,500 หน่วย ซึ่งเหลือเวลาอีก 10 วัน ( สัมภาษณ์ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2552) คาดว่าน่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้ สำหรับไตรมาสที่ 2 (มกราคม -มีนาคม 2553 ) การเคหะฯ ได้ตั้งเป้าขายอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะจัดงานมหกรรมขายบ้านเอื้ออาทรอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ระหว่างวันที่ 5-14กุมภาพันธ์ โดยใช้คอนเซ็ปต์ " รักบ้าน รักครอบครัว รักประเทศไทย"
การจัดงานช่วงคาบเกี่ยว วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เนื่องจาก เป็นวันคล้ายวันสถาปนาการเคหะแห่งชาติ ครบรอบ 37 ปีพอดี ประกอบกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ และ วันตรุษจีน การเคหะฯ จึงถือโอกาสดึงวันสำคัญๆ ดังกล่าว จัดงานรวมกันเป็นวาระเดียว สำหรับราคาขายบ้านเอื้ออาทร ที่จะมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการลดราคา หรือปรับขึ้นราคาบ้านในปี 2553 แต่อย่างไรก็ดีการเคหะฯยังยืนราคาขายเดิมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553
+++กลยุทธ์การขายมีอะไรบ้าง
ขณะนี้ การเคหะฯ รอ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อช่วยเหลือโครงการบ้านเอื้ออาทร กรณีที่ การเคหะฯ เสนอว่าจะให้ผู้ประกันตนของประกันสังคมได้มีโอกาสซื้อบ้านเอื้ออาทรในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี ในอัตราพิเศษ 2.5 % ซึ่งการเจรจานั้นได้คุยทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และประกันสังคม โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อบ้านได้ตั้งแต่ราคา 200,000 บาทต่อหน่วย ถึง 1,500,000 บาทต่อหน่วย ทั้งบ้านในโครงการของการเคหะฯ และโครงการของภาคเอกชน
ทั้งนี้ เพราะสำนักงานประกันสังคม มีเงินที่จะสนับสนุน เกี่ยวกับด้านนี้ ได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หากผู้ประกันตนซื้อโครงการใดโครงการหนึ่ง ทางสำนักงานประกันสังคมก็สามารถโอนเงินให้เจ้าของโครงการได้ทันที
โดยลูกค้าของประกันสังคมมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. ลูกจ้าง 2.นายจ้าง และ3. ผู้ประกันตนอิสระ ซึ่งราคาขายบ้านเอื้ออาทรอยู่ที่ 390,000 บาทต่อหน่วย
+++ลูกค้าขอซื้อยกตึก/ยกโครงการ
นายศิริโรจน์ อธิบายว่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ การเคหะฯ จะส่งจดหมายไปยัง 20 หน่วยงานราชการ เกี่ยวกับการขายยกโครงการ บ้านเอื้ออาทรตามมติครม.
หลังจากนั้นจะให้เวลา 1 เดือนในการตัดสินใจและขายให้เอกชนเป็นลำดับต่อไป
อย่างไรก็ดีจะต้องมีการจ้างบริษัทประเมินทุนทรัพย์ มาประเมินราคาก่อนว่าจะขายได้ในราคาเท่าไหร่สำหรับเอกชน ที่สนใจ
ขณะนี้ ที่ยื่นความจำนงเข้ามา มีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.บริษัทพัฒนาที่ดิน ต้องการซื้อไปเพื่อปรับปรุงและขายในอีกราคาหนึ่ง 2. โรงงานอุตสาหกรรม ซื้อไปเพื่อให้เป็นสวัสดิการพนักงานหรือ ให้เช่าต่อ และ 3. ผู้ประกอบธุรกิจหอพักและอพาร์ตเมนต์ เพื่อนำไปพัฒนาและให้เช่าต่อในระยะยาว เป็นต้น
+++บ้านเอื้ออาทรที่ขายยกตึก
มีจำนวน 264 อาคาร จำนวน 12, 655 หน่วย คาดว่าไม่เกิน เดือนเมษายน 2553 จะขายหมด หรือหากคิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 4,935 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ปี 2553 การขายบ้านเอื้ออาทร ได้กำหนดแผนจัดมหกรรมการขาย 3 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมิถุนายน และเดือนกันยายน
นอกจากนั้นก็เตรียมเสนอคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (บอร์ดการเคหะฯ) เรื่องการนำที่ดินที่ไม่ได้สร้างบ้านเอื้ออาทรมาพัฒนาใหม่ ได้แก่ ทำเล บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ,วัดกู้ จังหวัดนนทบุรี และที่ร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัยระดับกลางราคาไม่ต่ำกว่า 800,000 บาทต่อหน่วย


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

'โสภณ'ซัดรัฐบาลก่อนผิดสัญญา

ค่าผ่านทางโทล์ลเวย์ส่อแวววุ่นไม่เลิก "โสภณ ซารัมย์" ยืนข้างเอกชนยันรัฐบาลก่อนไม่ทำตามสัญญาตั้งแต่เริ่มแก้ไขสัญญา เผยมี 2 ทางเลือก ปล่อยเป็นไปตามสัญญา-แก้ไขสัญญาใหม่ ชี้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามสัญญาอย่างเหมาะสม ส่วน "ปัญญา ศรีปัญญา" ประธานกมธ.คมนาคม เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง แย้มหากพบสิ่งผิดปกติจี้ให้ยกเลิกทันที
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการแถลงผลงาน 1 ปีกระทรวงคมนาคมว่าเรื่องปัญหาสัญญาค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์นั้นได้เรียกอธิบดีกรมทางหลวง ผู้เกี่ยวข้องและฝ่ายกฎหมายนำสัญญามาตรวจสอบแล้วพบว่ารัฐบาลที่ผ่านมาเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ตั้งแต่มีการปรับแก้ไขสัญญาครั้งแรก ๆ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมมีทางเลือกดำเนินการเพียง 2 แนวทางเท่านั้นคือ
1. ปล่อยให้ผู้ประกอบการดอนเมืองโทล์ลเวย์ปรับราคาไปตามสัญญาและ 2. ต้องแก้ไขสัญญา ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ 2 นั้นยุ่งยากและต้องใช้เวลานานเรื่องจึงจะได้ข้อสรุปเพราะต้องคุยกันหลายฝ่าย ตลอดจนเกรงจะเกิดความเสียหายแก่รัฐตามมาภายหลัง ดังนั้นจึงเลือกแนวทางที่ 1 เพราะเห็นว่าเป็นความชอบธรรมของผู้ประกอบการและกำลังตรวจสอบว่ามีข้าราชการกระทรวงคมนาคมคนใดเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้ดอนเมืองโทล์ลเวย์หรือไม่ตามที่หลายฝ่ายข้องใจ หากพบจะมีการลงโทษกันตามระเบียบต่อไป และหากโทล์ลเวย์ทำผิดสัญญาจริงก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อความบริสุทธิ์โปร่งใสกันทุกฝ่ายและสามารถตรวจสอบได้ทันที
"ปัญหาดังกล่าวเกิดจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้สร้างปัญหาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันตามแก้ไข โดยพบว่ามีการแก้ไขสัญญามาแล้ว 2-3 ครั้ง การแก้ไขแต่ละครั้งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะหมดสัญญาในปี 2557 และยังพบอีกว่าบริษัท ดอนเมืองโทล์ลเวย์ ถูกรัฐบาลไม่ให้ขึ้นราคามาตั้งแต่ปี 2542 โดยเฉพาะในปี 2546 จะต้องปรับราคาจาก 35 บาทเป็น 60 บาทแต่ปรากฏว่ากลับไม่ได้ปรับราคาแต่อย่างใด จึงจะเห็นว่าภาครัฐเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญามาตั้งแต่ต้น
ดังนั้นในครั้งนี้ราคาจึงเพิ่มสูงขึ้นมากเพราะเป็นไปตามข้อสัญญาในแต่ละช่วง ซึ่งตัวเลขราคาที่เพิ่มปัจจุบันถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 ประการสำคัญผมไม่ต้องการลงลึกในรายละเอียดและเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะมากเกินไปเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนจึงเกรงว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อข้อพิพาทของเอกชนได้"
ด้านนายปัญญา ศรีปัญญา ประธานกรรมาธิการ(กมธ.)การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเนื่องจากช่วงนี้ปิดการประชุมสภา ดังนั้นจึงไม่สะดวกด้านการจัดประชุมคณะกรรมาธิการ หากเปิดในเดือนมกราคมแล้วจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมทันทีเพื่อตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมต้องการรู้ แต่ต้องมีผู้ร้องเรียนมายังกรรมาธิการคมนาคมจึงจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ประธานกรรมาธิการ คมนาคม ยอมรับว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนมากเพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับระเบียบกฎหมายจึงต้องขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารกรมทางหลวง ผู้บริหารดอนเมืองโทล์ลเวย์ ซึ่งภายในเดือนมกราคมก็จะทราบรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งว่าจะยกเลิกสัญญาหรือต้องแก้ไขสัญญาหรือปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญามา 2-3 ครั้งและเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานหลายปีจึงขอตรวจสอบรายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
"กรรมาธิการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีผู้ร้องมายังกรรมาธิการจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย และเห็นว่าปัญหานี้น่าจะมีทางออกซึ่งต้องคุยกันหลาย ๆ ฝ่ายพร้อม ๆ กันไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงกับผู้บริหารดอนเมืองโทล์ลเวย์ว่าเรื่องที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ดังนั้นช่วงนี้จึงต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปหารายละเอียดก่อนนำเข้าประชุมพิจารณาต่อไปประมาณต้นเดือนมกราคมปี 2553 นี้ หากตรวจสอบแล้วพบความผิดปกติจะเร่งให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป"


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อสังหาฯ 2 แสนล้านฟื้นตัว

ตลาดอสังหาฯ 2 แสนล้าน เริ่มฟื้นตัว หลังบิ๊กดีเวลอปเปอร์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าพัฒนาโครงการต่อเนื่อง เฉพาะ 10 ยักษ์ใหญ่กินแชร์ตลาดกว่า 70% คาดปี 53 โตได้อีก 5% เพิ่มส่วนแบ่งถึง 80% ด้าน "พฤกษา" ทุบสถิติประวัติศาสตร์อสังหาฯไทย ทำยอดขายทะลุ 23,000 ล้าน ล้มแชมป์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่น่าจะปิดตัวเลขได้แค่ 20,000 ล้าน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงยอดขาย (พรีเซล) ของบริษัทในปีนี้ว่าน่าจะทำได้ 23,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทย ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมในปีนี้ ถือว่าอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนในปีหน้าแนวโน้มการเติบโตน่าจะมีประมาณ 5%
"ตลาดอสังหาฯ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เติบโต เพิ่งจะมาฟื้นตัวเมื่อช่วงไตรมาส 3 และ 4 นี้เอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการขับเคลื่อนของผู้ประกอบการรายใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน 4 รายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 40% และถ้านับ 10 อันดับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว มีส่วนแบ่งมากถึง 70% ปีหน้าอาจจะมีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 80% ก็ได้"
นอกจากนี้ จากการรวบรวมของ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางผลประกอบการบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามียอดขายและรายได้ที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกบริษัท โดยในส่วนของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอดนั้น ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ทะลุถึง 20,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 12-15% และน่าจะทำกำไรได้ถึง 4,000 ล้านบาทเป็นลำดับที่ 2 รองจากบมจ.พฤกษา
ด้านบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) คาดหมายยอดขายของปีนี้ว่าจะสามารถทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่มีการประเมินว่ารายได้ไม่น่าจะเติบโตจากปัจจัยเรื่องการเมืองและประเด็นการเมืองก็ไม่รู้ว่าทิศทางจะไปทางไหน ขณะที่ในปีหน้าตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโต 30% หรือมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) คาดว่า ปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขายรวม 13,000 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 9,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะเติบโตขึ้นด้วย จึงตั้งเป้ายอดขายในปีหน้า 14,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% ในขณะที่ยอดรับรู้รายได้ปีหน้าคาดว่าจะทำได้ 10,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะลงทุนโครงการใหม่ในปีหน้า 10-12 โครงการทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัดมูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีการซื้อที่ดินแล้ว 10 โครงการ สัดส่วนการลงทุนโครงการแนวสูงอาจเป็น 60%
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยากรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะมียอดรับรู้รายได้มากกว่า 700 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10-15% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 664.92 ล้านบาท ส่วนยอดขายทั้งปีคาดว่าจะลดลงประมาณ 5% จากต้นปีที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 800 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ไปเป็นไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งมูลค่าโครงการประมาณ 1,200-1,400 ล้านบาท
ด้านบริษัท มั่นคงเคหะการฯ คาดว่าในปีนี้บริษัทสามารถทำรายได้ไว้ที่ 2,400 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้แล้ว1,900 ล้านบาท และในไตรมาส 4 ไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีการรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอน (Backlog) จำนวน 500-600 ล้านบาท จากที่มีทั้งหมด 800 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมประเมินว่าในปีนี้จะมียอดขายกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมีรายได้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท เฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ได้เปิดขายคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ประกอบด้วย ลุมพินีพาร์ค ปิ่นเกล้า มูลค่าโครงการ 3,600 ล้านบาท และโครงการลุมพินีวิลล์ โชคชัย 4 มูลค่า 1,360 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จด้านยอดขายเป็นอย่างมาก
บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ในโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ราว 725 ล้านบาท หลัง จะรับรู้รายได้จากโครงการเดิมที่เหลือรอขาย โดยครึ่งปีแรกมีการรับรู้รายได้แล้ว 360 ล้านบาท และยังมีการรอรับรู้ฯ จากงานในมือ(Backlog) 300-350 ล้านบาท จากจำนวน Backlog ทั้งหมดที่มีอยู่ 800-850 ล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมาไม่มีการเปิดโครงการใหม่


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ซีพี แลนด์ ผงาดบิ๊กอสังหาฯ



เปิดแผน 3 ปี "ซีพี แลนด์กรุ๊ป" วาดเป้าขึ้นแท่น 1 ใน 5 ยักษ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สไตล์"ฮ่องกง แลนด์" ชูโมเดลธุรกิจโตแบบยั่งยืน เตรียมซื้อทรัพย์พร้อมสร้างรายได้ระยะยาวจากค่าเช่า ทั้งพลาซา-สำนักงาน-โรงแรม เล็งผุดสำนักงานใหญ่ซีพี กรุ๊ปมูลค่าหมื่นล้าน หวังปี 53 เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าลุยตลาดอสังหาฯ ลอนช์โปรเจ็กต์บ้านเดี่ยว 298 ยูนิต ส่วนปีหน้าตั้งเป้ารายได้ 2,000 ล้านบาท
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดิน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนธุรกิจในระยะ 3 ปี (ปี 2553-2555) ว่า ได้วางเป้าหมายให้ซีพี แลนด์กรุ๊ป ที่ประกอบด้วยบริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด และบริษัทซี.พี. พลาซ่า จำกัด ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจติดอันดับ 1 ใน 5 ของไทย ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับบริษัทยักษ์อสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง อย่างกลุ่มฮ่องกง แลนด์ ที่มีการถือครองทรัพย์สิน และที่ดินจำนวนมาก และมีโครงการบริหารทั้งรูปแบบของสำนักงานให้เช่า และโรงแรม โดยเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้แบรนด์ซีพี

"เป้าหมายอยากเป็นเหมือนฮ่องกง แลนด์ ของเมืองไทย ที่มีการพัฒนาตึกให้เช่า และมีที่ดินเป็นของตัวเองจำนวนมาก ซึ่งแผน 3 ปี เราจะมีโครงการใหม่ๆ ทั้งการซื้ออาคารมาปรับปรุงให้เช่า การสร้างอาคารใหม่ การซื้อโรงแรมเข้ามาบริหาร และยังมีโปรเจ็กต์ที่ต้องทำให้ได้ คือ การสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่มซีพี เป็นที่ทำงานของผู้บริหารทุกกลุ่มธุรกิจของซีพีไว้ที่เดียวกัน และมีพิพิธภัณฑ์ซีพีที่มีประวัติตั้งแต่การเริ่มต้นทำธุรกิจรวมอยู่ด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ ต้องมีขนาดตั้งแต่ 50-100 ไร่ขึ้นไป ซึ่งมีผู้นำเข้ามาเสนอบ้างแล้ว 2-3 แปลง ถ้าสามารถหาที่ดินได้ก็สามารถสร้างเสร็จได้ภายในระยะเวลา 3 ปี และคงมีมูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท หลังจากนั้นก็จะนำเอาอาคารมาให้บริษัทในเครือเช่าทำสำนักงานต่อไปด้วย"
ส่วนแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้บริษัท แอสเซท พลัส จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงินเป็นผู้ดำเนินการควบรวม 2 บริษัท ที่ประกอบด้วยบริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด และบริษัทซี.พี. พลาซ่า จำกัด ให้เป็นบริษัทเดียว โดยพิจารณาหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จก็จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนต่อไป ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัท ได้มีการเตรียมความพร้อมมาก่อนหน้านี้แล้วและถือว่าอยู่ในฐานะที่สามารถจดทะเบียนในตลาดฯ ได้ทันที
"การเข้าตลาดฯ เพื่อต่อไปในอนาคตบริษัททำโครงการใหญ่ๆ ก็สามารถทำพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ได้ ซึ่งโครงการที่พัฒนาขึ้นมาก็ยังเป็นของกลุ่มซีพี ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีคุณสมบัติพร้อมที่จะนำเข้าจดทะเบียนได้ทันที แต่ไม่อยากเอาบริษัทใดบริษัทหนึ่งเข้าแล้วถือหุ้น โดยอีกบริษัทหนึ่ง ต้องการให้เป็นหนึ่งเดียว การรวมบริษัททำให้การจดทะเบียนในตลาดฯ ล่าช้าออกไป เพราะการโอนทรัพย์สินระหว่างบริษัทค่อนข้างยุ่งยาก แต่พยายามเร่งให้สามารถจดทะเบียนได้เร็วๆ นี้" นายสุนทร กล่าวและว่า
สำหรับแผนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย บริษัทเตรียมพัฒนาที่ดินบนเนื้อที่ 70 ไร่ ในเขตมีนบุรีเพื่อพัฒนาเป็นโครงการบ้านเดี่ยว ภายใต้โครงการโคซี่ พาร์ค (Cozy Park) จำนวน 298 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นการพัฒนาในเฟสต่อเนื่องจากปี 2540 ที่เคยใช้พื้นที่พัฒนาไปก่อนหน้าแล้วประมาณ 30 ไร่ และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่ส่วนกลางไว้ทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว
ด้านผลประกอบการของซีพี แลนด์กรุ๊ปในปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 1,500 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักภาษี 570 ล้านบาท ในปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้านั้นยังเชื่อว่า หากมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคก็สามารถเติบโตได้ ขณะที่อยู่อาศัยยังเป็นสินค้าจำเป็น บริษัทอาจจะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมต่อเนื่องหากในปีหน้าสามารถปิดโครงการแรกเสร็จ โดยอาจจะหาซื้อที่ดินมาพัฒนาหรือนำที่ดินที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาก็ได้ รวมถึงการซื้ออาคารมาปรับปรุงใหม่ อย่างเช่นอาคารพญาไท
นายสุนทร กล่าวอีกว่า ในช่วงกลางปีหน้าจะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอาคารฟอร์จูน รัชดาฯใหม่ โดยมีการจัดพื้นที่โซนไอทีใหม่ ประมาณ 7-8 โซน อาทิ โซนไอทีสำหรับผู้หญิง เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงทางเดินและพื้นที่ต่างๆ ภายใน และโฉมใหม่ของอาคารฟอร์จูน ด้วย ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม 2553 การปรับปรุงอาคารซี.พี. พญาไท จะแล้วเสร็จ ซึ่งภายหลังจากเปิดดำเนินการแล้วคาดว่าจะมีรายได้จากค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซื้ออาคารมา 800 ล้านบาท และลงทุนอีก 200 ล้านบาทสำหรับการปรับปรุงอาคาร
ปัจจุบันซีพี แลนด์กรุ๊ป มีกระแสเงินสดประมาณ 600 ล้านบาท และไม่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินใดๆ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถลงทุนได้แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 600-800 ล้านบาท แต่หากบริษัทต้องการขยายการลงทุนเพิ่มจะใช้วิธีการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะไม่ทำให้บริษัทมีภาระด้านดอกเบี้ย ส่วนที่ดินของกลุ่มซีพี แลนด์ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 5,000 ไร่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ จ.ระยอง จำนวน 3,200 ไร่ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 1,700 ไร่ จ.นครศรีธรรมราช 100 ไร่ จ.ขอนแก่น จำนวน 10 ไร่ ในกรุงเทพฯ อาทิ เขตมีนบุรี 100 ไร่ บริเวณถนนตรอกจันทน์ 10 ไร่ ภายในโครงการนอร์ธ ปาร์ค 4 ไร่ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บันทึก 10 ข่าวเด่นอสังหาริมทรัพย์ในรอบปี



ความเคลื่อนไหวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์และคมนาคมตลอดปี 2552 มีหลากหลายประเด็นที่น่าจับตา ทั้งที่เป็นข่าวครึกโครมระดับชาติกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อทบทวนความทรงจำปีวัว เซ็กชันอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1.ปรับค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์
สัญญาสัมปทานอัปยศ สด ๆ ร้อน ๆ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยผู้ใช้รถยนต์ต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีก 30 บาท จาก 55 บาท เป็น 85 บาท เดือดร้อนกันถ้วนหน้าและรถราติดขัดไปทั่วถนนวิภาวดีฯ เพราะถือเป็นอัตราที่แพงมากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เรื่องนี้ทำเอา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่ติดไล่บี้ให้กระทรวงคมนาคมไปหาทางแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้ก่อนหน้านั้นมีการแก้สัญญาเอาหน้ารอดระหว่างฝ่ายการเมืองกับ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐเสียเปรียบและภาระตกอยู่กับประชาชน
2. เนรมิตอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
หลังสถาปนิก 130 ทีม ชิงดำสนใจที่จะเข้าประมูลการออกแบบก่อสร้าง อาคารแห่งใหม่รัฐสภา ที่เกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในที่สุด ทีม"สงบ 1051" ซึ่ง ธีรพล นิยม ผู้อำนวยการ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นหัวหน้าทีมก็ชนะการประกวด ภายใต้ผลงานที่ชื่อว่า "สัปปายะสภาสถาน" และถือเป็น สถาปัตยกรรมในยุครัตนโกสินทร์ ที่สะท้อนทั้งความเป็นไทย อนุรักษ์ธรรมชาติศูนย์รวมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และความศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 109 ไร่
3. ดับนักธุรกิจสาวไฮโซ
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "สุนัทที เนื่องจำนงค์" เจ้าของไพรม์เนเจอร์ กรุ๊ป ตกเป็นข่าวครึกโครม และสะเทือนขวัญคนไทยมาก เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนเพราะถือเป็นคดีอุกอาจ เนื่องจากผู้ตายเป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทในเครือ 5 บริษัท ทั้งบ้านจัดสรรไพรม์เนเจอร์ วิลล่า ย่านอ่อนนุช ที่คนดังระดับอย่าง ภราดร ศรีชาพันธุ์ เป็นลูกบ้าน วิลล่า ไพรม์เนเจอร์ หัวหิน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น รวม ๆ แล้วธุรกิจในเครือข่ายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท อีกทั้งการเสียชีวิตในครั้งนี้ จึงมีข้อกังหาที่ว่า เกี่ยวพันกับธุรกิจหลายพันล้านหรือไม่
4. รถไฟตกรางเสียหายหนัก
. ขบวนรถไฟด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโศกนาฏกรรมกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และที่สุดก็นำพามาไปสู่ปัญหาการเมืองภายในการรถไฟฯมีการประท้วงหยุดให้บริการในเส้นทางสายใต้เป็นเวลาหลายวัน หลังเมื่อเดือนมิถุนายน รถไฟไทยเป็นอัมพาตทั่วประเทศ เพราะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)ได้นัดหยุดงานประท้วงมติครม.ในการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสม 7 หมื่นล้านมาแล้ว
5.เปิดรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์แห่งแรกฝั่งธน
การเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางสีลม ส่วนต่อขยาย ตากสิน วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มี 3 สถานี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ของกรุงเทพมหานคร หลังจากเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีตั้งแต่ กลางเดือนพฤษภาคมนับเป็นรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์สายแรกของ ฝั่งธนบุรี ที่สร้างความฮือฮาและช่วยลดปัญหาการจราจร ที่ติดขัดช่วงสะพานตากสินและยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางสู่สุขุมวิท สีลมได้อย่างสะดวกสบาย เพราะบริหารโดยบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอส
6. ถนนไร้ฝุ่นทั่วประเทศ 1.4 หมื่นล้าน
โครงการถนนไร้ฝุ่น เฟสแรก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท จากงบไทยเข้มแข็ง ระยะทาง 3.2 พันกิโลเมตร โครงการนี้อยู่ในความดูแลของ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูคุณภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำ ให้ผู้ประกอบการทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ยางมะตอย ต่างได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยกระจายรายได้สู่รากหญ้าให้เกิดการจ้างงาน และเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบอีกทางหนึ่ง
7. ผู้ประกอบการเฮ บอร์ดบีโอไอ
การปรับเกณฑ์การส่งเสริมบ้านบีโอไอ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)โดยขยายเพดานราคาห้องชุดจาก 6 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท ลดขนาดพื้นที่จาก 31 ตร.ม.เหลือ 28 ตร.ม. ขณะที่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ ขยายเพดานราคาจาก 6 แสนบาท เป็น 1.2 ล้านบาท ในพื้นที่ 70 ตร.ม. นอกจากนี้ ยังลดจำนวนหน่วยในแต่ละโครงการจาก 150 หน่วย เหลือ 50 หน่วย จะช่วยให้สามารถพัฒนาโครงการที่เล็กลงได้ การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ให้เฉพาะเขตพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนโซนที่ 1 ในพื้นที่กทม.และอีก 5 จังหวัดรอบ ๆ กทม.เท่านั้น
8. เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง มูลค่า 811,070 ล้านบาท ระยะทางรวม 495 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายหลัก 8 เส้นทางคือ 1.สายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) 2.สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) 3.แอร์พอร์ตเรล ลิงค์ (บางซื่อ-พญาไท) 4.สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทรปราการ) 5.สายสีเขียวอ่อน(ยศเส-บางหว้า) 6.สายสีน้ำเงิน(ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) 7.สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) และ 8.สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ส่วนสายรองมี 4 เส้นทางคือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9 และสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) หลังครม.เคยอนุมัติเมื่อปี 2547 แต่ไม่คืบหน้าเพราะติดปัญหามากมายทั้งการเมืองและด้านงบประมาณ
9. ต่อมาตรการกระตุ้นคนซื้อบ้าน
รัฐบาลได้ตัดสินใจต่อมาตรการกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ปลุกกำลังซื้อ จากเดิมที่หมดอายุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการออกไปอีกจนถึง เดือนมีนาคม 2553 หรือเท่ากับว่าเป็นการต่ออายุมาตรการออกไปอีก 1 ปีนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% และลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เหลือ 0.11%
10. ปิดซ่อม13สะพานทั่วกรุง
กรุงเทพมหานคร โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.มีคำสั่งด่วนให้ปิดซ่อมสะพานข้ามแยก13 แห่งทั่วกรุง หลังพบว่าชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก เพราะมีอายุการใช้งานมากว่า 40-50 ปี หากเปิดใช้เส้นทางต่อ อาจเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสะพานแห่งแรกที่เริ่มปิดซ่อมแซมคือ สะพานข้ามแยกรัชโยธิน ( 1 กันยายน 2552 ) ที่ผ่านมา ตามด้วย สะพานข้ามแยกบางพลัด สะพานข้ามแยกไทยเบลเยียม (พระราม 4) สะพานพงษ์เพชร สะพานงามวงศ์วาน สะพานไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ฯลฯ ส่งผลให้จราจรเป็นอัมพาต ส่วนสะพานที่อาการสาหัสสุดถึงขั้นต้องทุบทิ้ง-ก่อสร้างใหม่คือ สะพานข้ามแยกบริเวณอโศก -เพชรบุรี ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ปี 2553 ด้วยงบประมาณมากกว่า 200-300 ล้านบาท


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อสังหาฯ ปีวัว ต้นร้าย ปลายดี



ผ่านพ้นไปอีกปีแล้วสำหรับช่วงวันเวลาที่แสนเหน็ดเหนื่อย ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

ที่ต้องฟันฝ่าวิกฤติทั้งในและนอกประเทศ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แม้อาจจะไม่สวยงามนัก แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด เพราะถึงสิ้นปีนี้ประเมินว่าจำนวนโครงการที่เปิดใหม่จะมีประมาณ 82,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มี 71,000 ยูนิต ขณะที่มูลค่าตลาดสินเชื่อก็อยู่ในอัตรา 3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเช่นกัน



++พิษการเมืองถล่มอสังหาฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาด้านการเมืองเป็นปัจจัยส่งผลกระทบสำคัญต่อภาคธุรกิจโดยรวม ยิ่งธุรกิจอสังหาฯ แล้วนับเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการเติบโตหรือหดตัวได้ เพราะส่งผลทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งระบบ เปิดศักราชปี 2552 ที่ผ่านมาทำให้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2551 จากเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ลุกลามต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ด้วย จนทำให้ดีเวลอปเปอร์ต่างก็ชะลอแผนการลงทุนใหม่ๆ ในปีช่วงไตรมาสแรกลงไปด้วย
ยิ่งพอเข้าสู่เดือนเมษายน ช่วงวันสงกรานต์เหตุการณ์ก็เลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่มเสื้อแดงก่อเหตุการณ์จลาจลทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลงไปอย่างหนัก ผู้ประกอบการหลายรายต้องยกเลิกการเปิดตัวโครงการใหม่ นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เป็นลูกค้าหลักของเมืองตากอากาศ ทั้งพัทยา หัวหิน ชะอำ ภูเก็ต และสมุย หายเกลี้ยงไปจากตลาด เหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังพอมีเข้ามา แต่ก็ไม่มีปริมาณมากเพียงพอที่จะพยุงให้ธุรกิจอสังหาฯ ฟื้นตัวได้

++มาตรการรัฐกระตุ้นตลาด
แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกรุมล้อมเข้ามาในปีนี้ แต่ธุรกิจอสังหาฯ ก็เริ่มที่ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ไม่เลวร้ายไปกว่าที่คาดคิดไว้ในช่วงแรก เพราะรัฐบาลมีมาตรการออกมากระตุ้นตลาดมาเป็นระยะๆ อย่างในช่วงไตรมาสแรก มีการต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3.3% ลงเหลือ 0.11% ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2553 และยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ 300,000 บาท สำหรับลูกค้าที่ซื้อบ้านและโอนภายในสิ้นปี 2552 ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวด้วยล้วนเป็นตัวที่พยุงให้ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ที่ดูเหมือนจะแย่กลับไม่เลวร้ายอย่างที่คิด
ขณะที่ด้านการปล่อยสินเชื่อที่ช่วงครึ่งปีแรกธนาคารพาณิชย์เข้มงวดและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยวิกฤติปี 2540 ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกภาคอสังหาฯ โดยรวมชะลอตัวลงไป รัฐบาลจึงได้ให้นโยบายกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่ายสินเชื่อมากขึ้น จึงได้ขยายเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธอส. จาก 73,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการสินเชื่อฟาสต์แทร็กที่ออกมาให้มีการปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลยังออกโครงการไทยเข้มแข็งมา เพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เพราะเป็นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่จะมีการใช้วัดสุก่อสร้างแรงงานอีกจำนวนมาก และยังจะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ตามมาอีกด้วย เพราะโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะก่อให้เกิดการขยายตัวของที่อยู่อาศัยตามมา โดยเฉพาะกับเส้นทางระบบขนส่งมวลชนต่างๆ

++พ.ย.จดทะเบียนใหม่สูงสุด
แนวโน้มของธุรกิจอสังหาฯ ที่เห็นภาพชัดเจนได้กลับมาเติบโตดีอีกครั้งในปีนี้ คงวัดได้จากตัวเลขของการเปิดโครงการใหม่ ซึ่งพบว่าในเดือนพฤศจิกายน มีอสังหาฯ ที่เปิดใหม่ในเดือนนี้ทั้งสิ้น 9,446 ยูนิต มากที่สุดในรอบ 11 เดือน
ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 21,904 ล้านบาท จากทั้งหมด 22 โครงการ โดยที่มีมากที่สุด ก็คือ อาคารชุด มีจำนวนมากถึง 7,784 ยูนิต สัดส่วน 82.4% รองลงมาคือ บ้านเดี่ยวมีจำนวน 1,099 ยูนิต สัดส่วน 11.6% อันดับ 3 คือทาวน์เฮาส์ มีจำนวน 505 ยูนิต สัดส่วน 5.3% ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด
ทำเลทองสำคัญที่มีการพัฒนา โดยเฉพาะในส่วนของอาคารชุด ยังคงอยู่ในบริเวณเขตเมืองชั้นใน และชั้นกลาง ที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า หรือตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการพัฒนาอาคารชุดในวันนี้ ที่ต้องรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการขยายตัวของระบบขนส่งสาธารณะ
ในส่วนของผู้ประกอบการที่เปิดตัวกันอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามี 8 บริษัท ที่มีโครงการใหม่ออกมา ได้แก่ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น บมจ. ศุภาลัย บมจ. แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บมจ. แสนสิริ บมจ. มั่นคงเคหะการ บมจ. เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

++บิ๊กอสังหาฯโกยกำไรอิ่มแปล้
คงต้องยอมรับว่า ในปีนี้ผลประกอบการของดีเวลอปเปอร์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดับบิ๊กๆ ล้วนแต่มีผลกำไรจากการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายต่างก็เห็นว่าตลาดอสังหาฯ ไม่ได้ฟื้นตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าไรนัก ความเป็นจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ คือ เรื่องของความสามารถของการแข่งขันในเชิงธุรกิจ บริษัทใหญ่ๆ ย่อมได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกที่สถาบันการเงินต่างมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก ย่อมส่งผลให้บริษัทใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็งกว่า และยังมีในเรื่องของแบรนด์ที่ผู้บริโภคใช้เป็นเกณฑ์อีกข้อหนึ่งในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้บิ๊กอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำกำไรกันเป็นกอบเป็นกำ
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็พบว่ามีหลายบริษัทที่มีผลกำไรเติบโตเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อาทิ บมจ.ศุภาลัย มีกำไรสุทธิ 1,814.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% บมจ.แสนสิริ มีกำไรสุทธิ 1,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% บมจ. อารียา พร็อพเพอร์ตี้ มีกำไรสุทธิ 332.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,303% เป็นต้น
ที่สำคัญในปีนี้เกิดปรากฏการณ์สำคัญ ที่ยักษ์อสังหาฯ อย่างบมจ.พฤกษา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 หลังจากที่ทำยอดขายถล่มทลายกว่า 23,000 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์วงการอสังหาฯ เมืองไทย ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,492 31 ธ.ค.52 - 2 มกราคม พ.ศ. 25532