Sunday, January 3, 2010

บันทึก 10 ข่าวเด่นอสังหาริมทรัพย์ในรอบปี



ความเคลื่อนไหวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์และคมนาคมตลอดปี 2552 มีหลากหลายประเด็นที่น่าจับตา ทั้งที่เป็นข่าวครึกโครมระดับชาติกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อทบทวนความทรงจำปีวัว เซ็กชันอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1.ปรับค่าผ่านทางดอนเมืองโทล์ลเวย์
สัญญาสัมปทานอัปยศ สด ๆ ร้อน ๆ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยผู้ใช้รถยนต์ต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีก 30 บาท จาก 55 บาท เป็น 85 บาท เดือดร้อนกันถ้วนหน้าและรถราติดขัดไปทั่วถนนวิภาวดีฯ เพราะถือเป็นอัตราที่แพงมากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เรื่องนี้ทำเอา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่ติดไล่บี้ให้กระทรวงคมนาคมไปหาทางแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้ก่อนหน้านั้นมีการแก้สัญญาเอาหน้ารอดระหว่างฝ่ายการเมืองกับ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐเสียเปรียบและภาระตกอยู่กับประชาชน
2. เนรมิตอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
หลังสถาปนิก 130 ทีม ชิงดำสนใจที่จะเข้าประมูลการออกแบบก่อสร้าง อาคารแห่งใหม่รัฐสภา ที่เกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในที่สุด ทีม"สงบ 1051" ซึ่ง ธีรพล นิยม ผู้อำนวยการ สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นหัวหน้าทีมก็ชนะการประกวด ภายใต้ผลงานที่ชื่อว่า "สัปปายะสภาสถาน" และถือเป็น สถาปัตยกรรมในยุครัตนโกสินทร์ ที่สะท้อนทั้งความเป็นไทย อนุรักษ์ธรรมชาติศูนย์รวมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และความศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 109 ไร่
3. ดับนักธุรกิจสาวไฮโซ
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "สุนัทที เนื่องจำนงค์" เจ้าของไพรม์เนเจอร์ กรุ๊ป ตกเป็นข่าวครึกโครม และสะเทือนขวัญคนไทยมาก เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนเพราะถือเป็นคดีอุกอาจ เนื่องจากผู้ตายเป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทในเครือ 5 บริษัท ทั้งบ้านจัดสรรไพรม์เนเจอร์ วิลล่า ย่านอ่อนนุช ที่คนดังระดับอย่าง ภราดร ศรีชาพันธุ์ เป็นลูกบ้าน วิลล่า ไพรม์เนเจอร์ หัวหิน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น รวม ๆ แล้วธุรกิจในเครือข่ายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท อีกทั้งการเสียชีวิตในครั้งนี้ จึงมีข้อกังหาที่ว่า เกี่ยวพันกับธุรกิจหลายพันล้านหรือไม่
4. รถไฟตกรางเสียหายหนัก
. ขบวนรถไฟด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโศกนาฏกรรมกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และที่สุดก็นำพามาไปสู่ปัญหาการเมืองภายในการรถไฟฯมีการประท้วงหยุดให้บริการในเส้นทางสายใต้เป็นเวลาหลายวัน หลังเมื่อเดือนมิถุนายน รถไฟไทยเป็นอัมพาตทั่วประเทศ เพราะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)ได้นัดหยุดงานประท้วงมติครม.ในการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสม 7 หมื่นล้านมาแล้ว
5.เปิดรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์แห่งแรกฝั่งธน
การเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางสีลม ส่วนต่อขยาย ตากสิน วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มี 3 สถานี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ของกรุงเทพมหานคร หลังจากเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีตั้งแต่ กลางเดือนพฤษภาคมนับเป็นรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์สายแรกของ ฝั่งธนบุรี ที่สร้างความฮือฮาและช่วยลดปัญหาการจราจร ที่ติดขัดช่วงสะพานตากสินและยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางสู่สุขุมวิท สีลมได้อย่างสะดวกสบาย เพราะบริหารโดยบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอส
6. ถนนไร้ฝุ่นทั่วประเทศ 1.4 หมื่นล้าน
โครงการถนนไร้ฝุ่น เฟสแรก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท จากงบไทยเข้มแข็ง ระยะทาง 3.2 พันกิโลเมตร โครงการนี้อยู่ในความดูแลของ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูคุณภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำ ให้ผู้ประกอบการทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ยางมะตอย ต่างได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยกระจายรายได้สู่รากหญ้าให้เกิดการจ้างงาน และเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบอีกทางหนึ่ง
7. ผู้ประกอบการเฮ บอร์ดบีโอไอ
การปรับเกณฑ์การส่งเสริมบ้านบีโอไอ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)โดยขยายเพดานราคาห้องชุดจาก 6 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท ลดขนาดพื้นที่จาก 31 ตร.ม.เหลือ 28 ตร.ม. ขณะที่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ ขยายเพดานราคาจาก 6 แสนบาท เป็น 1.2 ล้านบาท ในพื้นที่ 70 ตร.ม. นอกจากนี้ ยังลดจำนวนหน่วยในแต่ละโครงการจาก 150 หน่วย เหลือ 50 หน่วย จะช่วยให้สามารถพัฒนาโครงการที่เล็กลงได้ การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ให้เฉพาะเขตพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนโซนที่ 1 ในพื้นที่กทม.และอีก 5 จังหวัดรอบ ๆ กทม.เท่านั้น
8. เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง มูลค่า 811,070 ล้านบาท ระยะทางรวม 495 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายหลัก 8 เส้นทางคือ 1.สายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) 2.สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) 3.แอร์พอร์ตเรล ลิงค์ (บางซื่อ-พญาไท) 4.สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทรปราการ) 5.สายสีเขียวอ่อน(ยศเส-บางหว้า) 6.สายสีน้ำเงิน(ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) 7.สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) และ 8.สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ส่วนสายรองมี 4 เส้นทางคือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9 และสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) หลังครม.เคยอนุมัติเมื่อปี 2547 แต่ไม่คืบหน้าเพราะติดปัญหามากมายทั้งการเมืองและด้านงบประมาณ
9. ต่อมาตรการกระตุ้นคนซื้อบ้าน
รัฐบาลได้ตัดสินใจต่อมาตรการกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ปลุกกำลังซื้อ จากเดิมที่หมดอายุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการออกไปอีกจนถึง เดือนมีนาคม 2553 หรือเท่ากับว่าเป็นการต่ออายุมาตรการออกไปอีก 1 ปีนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% และลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เหลือ 0.11%
10. ปิดซ่อม13สะพานทั่วกรุง
กรุงเทพมหานคร โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.มีคำสั่งด่วนให้ปิดซ่อมสะพานข้ามแยก13 แห่งทั่วกรุง หลังพบว่าชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก เพราะมีอายุการใช้งานมากว่า 40-50 ปี หากเปิดใช้เส้นทางต่อ อาจเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสะพานแห่งแรกที่เริ่มปิดซ่อมแซมคือ สะพานข้ามแยกรัชโยธิน ( 1 กันยายน 2552 ) ที่ผ่านมา ตามด้วย สะพานข้ามแยกบางพลัด สะพานข้ามแยกไทยเบลเยียม (พระราม 4) สะพานพงษ์เพชร สะพานงามวงศ์วาน สะพานไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ฯลฯ ส่งผลให้จราจรเป็นอัมพาต ส่วนสะพานที่อาการสาหัสสุดถึงขั้นต้องทุบทิ้ง-ก่อสร้างใหม่คือ สะพานข้ามแยกบริเวณอโศก -เพชรบุรี ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ปี 2553 ด้วยงบประมาณมากกว่า 200-300 ล้านบาท


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,491 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

No comments:

Post a Comment